The Use of Diospyros mollis Griff for Internal Parasite Control in Goats

      การเลี้ยงแพะในประเทศไทยส่วนใหญ่อาศัยทุ่งหญ้าธรรมชาติเป็นหลัก โดยปล่อยให้แพะแทะเล็มและหากินเองในทุ่งหญ้าและเสริมด้วยอาหารข้นบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งรูปแบบ
การเลี้ยงดังกล่าวเป็นสาเหตุให้แพะเกิดการระบาดของพยาธิภายในชนิดต่าง ๆ ที่มีวัฏจักรชีวิตในแปลงหญ้า โดยพยาธิมีผลกระทบต่อการผลิตแพะทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งพยาธิภายในเป็นตัวก่อปัญหากับการเลี้ยงมากกว่าพยาธิภายนอก ถ้าแพะมีพยาธิภายในมากจะทำให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนได้ง่ายและมีความรุนแรงถึงตายได้ พยาธิภายในแพะมีหลายชนิดพบการระบาดในแพะที่เลี้ยงในทุกพื้นที่ได้แก่ พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืดและพยาธิใบไม้ตับ[1] 

ภาพที่ 1 ผลมะเกลือสด (Diospyros mollis Griff)

       โดยพยาธิตัวกลม (Nematodes) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือพยาธิตัวกลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ ที่สำคัญคือพยาธิเส้นลวดจะอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารส่วนอโบมาซัมของแพะ เป็นพยาธิที่ทำอันตรายต่อสัตว์มากที่สุด ตัวผู้มีสีแดงยาว 10-20 มิลลิเมตร ส่วนตัวเมียมีสีแดงสลับขาว ยาว 18–30 มิลลิเมตร พยาธิชนิดนี้จะดูดเลือดทั้งเม็ดเลือดและโปรตีนในเลือด ทำให้แพะเกิดโลหิตจาง และถ้ามีอาการรุนแรง แพะจะมีอาการบวมน้ำใต้คาง ใต้ท้องน้ำหนักลด ท้องร่วง ร่างกายอ่อนแอ ความต้านทานโรคต่ำและตายได้ อาการในลูกสัตว์จะเป็นแบบเฉียบพลันเนื่องจากการเสียเลือดอย่างรวดเร็วโดยไม่แสดงอาการโลหิตจาง[2]

 

มะเกลือมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros mollis Griff (ภาพที่ 1) เป็นพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่ภูมิปัญญาชาวบ้านรู้จักนำมาเป็นยาถ่ายพยาธิทั้งในมนุษย์และปศุสัตว์มานานแล้ว จัดอยู่ในวงศ์ Ebenaceae มีชื่อสามัญว่า  Ebony tree ออกผลในปลายฤดูฝนและในปีหนึ่งให้ผลเพียงครั้งเดียว คือ ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม หรืออาจข้ามไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ลักษณะของต้นและใบ มีลำต้นขนาดย่อมคล้ายต้นตะโก ดอกมีสีเหลือง ผลกลมป้อม ขนาดตั้งแต่ 1/2 นิ้ว จนถึง 3/4 นิ้ว ที่ขั้วมีกลีบเลี้ยงคล้ายผลมังคุดแต่เล็กกว่า เปลือกนอกของผลมีสีเขียวสดเป็นมัน เมื่อผลแก่แล้วจะกลายเป็นสีเทาและสีเทาดำเมื่อแก่จัด ต้นมะเกลือมีอยู่ทั่วไปทุกภาคยกเว้นภาคใต้ มีชุกชุมในภาคกลางบางจังหวัด เช่น ราชบุรี สระบุรี ลพบุรี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางจังหวัด เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนครและอุดรธานี

        สารสำคัญที่พบในมะเกลือ คือ Diospyrol Diglucoside ที่สามารถละลายน้ำได้ดี แต่ไม่ดูดซึมผ่านผนังลำไส้ สามารถกำจัดพยาธิตัวกลมได้[3] สนทยาและชูศักดิ์(2553)[4] ได้ทดลองใช้สารสกัดจากมะเกลือเพื่อควบคุมพยาธิในแพะ โดยใช้มะเกลือผลแก่เต็มที่ สกัดด้วยการปั่นกับน้ำกลั่นด้วยความเข้มข้นที่ระดับ 8, 10 และ 12 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก กรอกให้กับแพะลูกผสมพันธุ์พื้นเมืองที่เลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อยในปริมาณ 3 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เทียบกับกลุ่มที่ได้รับการถ่ายพยาธิด้วยยาทางการค้า [Albendazole 112.5 มิลลิกรัม (1 มิลลิลิตร/10 กิโลกรัม)] พบว่าน้ำสกัดจากผลมะเกลือ 8, 10 และ 12 เปอร์เซ็นต์ สามารถใช้ควบคุมพยาธิตัวกลมในแพะได้ 57.84 81.26 และ 82.03 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เทียบกับ 98.59 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มที่ได้รับยาทางการค้าโดยมีประสิทธิภาพสูงสุดหลังได้รับน้ำสกัดไปแล้ว 21 วัน (ภาพที่ 2) ส่วนขั้นตอนการเตรียม สารสกัดมะเกลือแสดงดังภาพที่ 3

ภาพที่ 2 ประสิทธิภาพของสารสกัดจากมะเกลือต่อการควบคุมพยาธิตัวกลมในแพะ

(ก) ชั่งน้ำหนักผลมะเกลือสด

(ข) สกัดด้วยการปั่นกับน้ำกลั่น 1 นาที

(ค) กรองเอากากออก

(ง) น้ำสารสกัดมะเกลือสด

ภาพที่ 3 การเตรียมสารสกัดจากมะเกลือ

ผู้เขียนบทความ : อาจารย์สนทยา มูลศรีแก้ว และอาจารย์ ดร.ชูศักดิ์ พูลมา
อาจารย์ประจำสาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ที่มาของบทความ : วารสารเกษตรหันตรา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 ประจำเดือน มกราคม – เมษายน 2567

เอกสารอ้างอิง
[1] บุญเสริม ชีวะอิสระกุล. (2546). การเลี้ยงดูและการจัดการแพะ. เชียงใหม่: ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
[2] ไชยวรรณ วัฒนจันทร์. (2562). การผลิตแพะเนื้อและเนื้อแพะคุณภาพดี. (พิมพ์ครั้งที่ 1). สงขลา: บริษัทเอสพริ้น (2004) จำกัด.
[3] Maki, J., Kondo, A., & Yanagisawa, T. (1983). Effects of alcoholic extract from Ma-Klua (Diospyros mollis) on adults and larvae of the dwarf tapeworm,
      Hymenolepis nana in mice and on the infectivity of the eggs. Parasitology, 87(1), 103-111.
[4] สนทยา มูลศรีแก้ว และชูศักดิ์ พูลมา. (2553). การศึกษาการใช้มะเกลือควบคุมพยาธิในแพะ. รายงานวิจัยงบกองทุนส่งเสริมงานวิจัย ปี 2553. พระนครศรีอยุธยา:
     มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ.

Add Comment

Translate »